วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ความชื้นยิ่งละเอียดยิ่งดี

ก็อย่างที่เราทราบๆกันอยู่นะครับว่า นกแอ่นกินรังนั้นจะชอบความชื้นที่ค่อนข้างสูง ช่วงระหว่าง 80 Rh%-85Rh% แต่ว่าเรื่องของอุณหภูมิก็สำคัญไม่หยอก แต่อาจจะเป็นรองๆลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีความสำคัญเลยนะครับ

หากว่าเป็นหน้าร้อน ที่ร้อนมากๆๆอย่างหน้าร้อน ปี 53 ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แบบเห็นๆกันอยู่ หากว่าบ้านนกที่อุณหภูมิสูงเกิน 32-34 องศาอย่างนี้ เราก็ต้องมาให้ความสำคัญกับเรื่องอุณหภูมิ แทนที่จะเป็นเรื่องความชื้น หรืออย่างหน้าหนาว 2 ปีก่อนจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพจะเย็นเอาเรื่อง เราก็ต้องเน้นการปรับเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น เพื่อทำให้นกอยู่สบายๆ ไม่หนาว ส่วนหน้าฝนเรืองอุณหภูมิแทบไม่ต้องเป็นห่วงเลย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลอุณหภูมิจะเป็นที่เด่น หรือต้องให้ความสำคัญเป็นคราวๆไปตามปัจจัยที่เข้ามากระทบ แต่เรื่องของความชื้นจะเป็นเรื่องต้องควบคุมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าบางครั้งเรื่องอุณหภูมิจะเด่นเกินหน้าเกินตาขึ้นมาเป็นครั้งเป็นคราวก็จริง แต่อย่างไรก็แล้ว ความชื้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถละเลยได้ครับ

การควบคุมความชื้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนครับ แกว่งตัวขึ้นลงได้ง่ายอีกทั้งแกว่งขึ้นละได้ครั้งละมากๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ขนาดช่องขนาดรูระบายอากาศ ความแรงของลมที่พัดเข้ามาก ความชื้นในอากาศของแต่ละช่วงเวลา ความชื้นในอากาศในแต่ละฤดูกาลก็แตกต่างกัน ความร้อนแรงของแสงที่ส่องเข้าไปในบ้านนกก็แตกต่าง  การออกแบบบ้านนกให้มีหรือไม่มีบ่อน้ำภายในบ้านนก ก็มีผลกับความชื้นภายในบ้านนกเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่อมกระทบต่อความชื้นสัมพัทธ์ในบ้านนกของท่าน  ดังนั้นเรื่องต่างๆเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อความชื้นในแต่ละจุดของบ้าน ซึ่งมีผลทำให้ความชื้นในแต่ละจุดก็จะไม่เท่ากัน แตกต่างกันออกไป บางจุดความชื้นสัมพัทธ์อาจจะสูง บางจุดความชื้นอาจจะต่ำ ความชื้นในแต่ละชั้นก็จะแตกต่างกัน อีกทั้งเรื่องของพื้นที้ใช้สอยในบ้านนกก็มีผลเหมือนกัน
 
เรื่องพื้นที่ของอาคารบ้านนกแตกต่างใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ซึ่งเราต้องยอมรับกันว่าบ้านนกพื้นที่เล็ก การควบคุมความชื้นย่อมทำได้ง่ายกว่าบ้านนกพื้นที่ใหญ่ ความยุ่งยาก ซับซ้อนในการควบคุมความชื้นก็จะแตกต่างกันไป จำนวนชั้นก็มีผลต่อความชื้น ขนาดของช่องเข้าออกใหญ่เล็กไม่เท่ากัน จำนวนช่องมากน้อยไม่เหมือนกัน มี 1 ช่องบ้าง 2 ช่องบ้าง อีกทั้งตำแหน่งและระยะห่างของช่องนกเข้าออกกับ Nesting Room ก็จะส่งผลต่อความชื้นของอาคารเช่นกัน โดยส่วนมากชั้นบนสุดของบ้านนกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดและรวดเร็วกว่าชั้นล่างๆ
 
ดังนั้นการควบคุมความชื้น โดยใช้จุดที่วัดเพียง 1-2 จุด เพื่อควบคุมความชื้นพื้นที่ทั้ง 3 ชั้น หรือ ควบคุมความชื้นบ้านนกทั้งหลังนั้น ผมว่าเป็นสุ่มเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่ว่าท่านสามารถใช้การวัดความชื้น 1-2 จุดได้เช่นกัน แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า--ท่านจะต้องแม่นเรื่องความชื้นมากๆๆ หากว่าท่านวางตำแหน่ง Sensor ไว้ผิดที่ผิดทางโอกาสพลาดก็มีมากเช่นกัน 
 
ในทางกลับหากว่าเรากระจายจุดวัดและจุดควบคุมให้มากจุด แยกเป็นหน่วยย่อยๆ หลายๆจุด จะทำให้สามารถบริหารความชื้นได้แม่นยำ ทำได้ละเอียดกว่า ความผิดพลาดน้อยลง ประสิทธิภาพการบริหารความชื้นต่อพื้นที่จะทำได้แม่นยำ การแยกการควบคุมความชื้นเป็นหน่วยย่อยหลายๆจุดนั้นจะทำให้การควบคุมความชื้นในแต่ละพื้นที่ได้ประสิทธิภาพสูงว่าอย่างชัดเจน การบริหารความชื้นให้เข้าสู่ภาวะ Idealy จะทำได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า; แม่นยำกว่า ในช่วงเวลาที่ถูกต้องทันกาลมากกว่าการใช้จุดวัดและควบคุมเพียง 1-2 จุด โดยที่เราอาจจะไม่ต้องเก่งหรือแม่นเรื่องตำแหน่งที่วางหัว Sensor อย่างเซียนที่เค้าเก่งๆครับ
 
                                                                              Vuthmail-Thailand
                                                                                     26.10.53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น