วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ไปติดตั้ง VM-80 HT แล้วครับ

ช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน ผมได้รับเครื่องจากต่างประเทศมา ก็เลยมัวแต่ยุ่งๆกับการทดลองและตรวจสอบเครื่องดูว่าถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ พร้อมทั้งการทดลองเดินสายไฟเอง เดินสายไฟเข้า เดินสายไฟไปยังอุปกรณ์ต่างๆๆ เพื่อดูว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อนหรือไม่ประการใด อีกทั้งการทดลองประสิทธิภาพเครื่องให้เครื่องรับ Load ในระดับต่างๆ และหนักไปในส่วนของการทดลองเปิด Blade Humidifier จำนวน 3 ตัวพร้อมๆกัน จนแน่ใจว่า VM-80 HT รับ Load จากเครื่องทำความชื้นได้ 3 ตัวพร้อมๆกันได้เป็นที่แน่นอนแล้ว  ก็ยังทดสอบทำความเข้าใจการตั้งโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งการทดสอบประสิทธิภาพก็ทำกันอย่างหนัก มีความขลุกขลักบ้างพอประมาณ เพราะว่าเป็นของใหม่ ยังไม่คุ้นเคย แต่พอทำไปสักพักก็เริ่มคุ้นเคยทำได้ง่ายสะดวกจริงๆ พร้อมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากคุณหนุ่มจันทน์ จึงทำให้ทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดีครับ แต่ก็หมดเวลาไปมากพอประมาณ-กว่าจะแจ่มแจ้ง และได้เรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาต่างจนทะลุปรุโปร่ง จนเกิดเป็นความมั่นใจในตัว VM-80 HT เป็นอย่างมาก

ดังนั้นอาทิตย์ก่อนซึ่งเป็นวันหยุด ผมกับน้องชายจึงได้เดินทางไปบ้านนกเพื่อไปติดตั้ง Hygorstat VM-80 HT โดยความชะล่าใจจึงไม่ได้ตระเตรียมสายไฟที่จะนำมาใช้ต่อขยายความยาวสายของ Sensor  ไปด้วย จึงทำให้ไม่มีสายไฟที่จะขยายความยาวสาย Sensor ได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นสาย PT-100 (เป็นสายประเภท RTD -Resistant Temperature Detector) ซึ่งภายในประกอบไปด้วยสายย่อยจำนวน 5 เส้น ซึ่งมีสีแดง เหลือง ดำ ฟ้า น้ำตาล


- 3 สีแรก สีแดง เหลือง ดำ เป็นเรื่องของความชื้น
- 2 สีหลัง ฟ้า น้ำตาล เป็นเรื่องของสายอุณหภูมิ

หากว่าจะหาซื้อก็ราคาสาย PT-100 ก็จะประมาณเมตรละ 40 บาท ผมลองคำนวณดูคร่าวๆ ผมจะต้องใช้สายยาวประมาณ 150 เมตร ตกเป็นเงินประมาณ 6,000 บาท ซึ่งก็เอาเรื่องพอสมควร ซึ่งเป็นภาระให้กับคนที่ต้องซื้อเครื่องที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีกเป็นเงินหลายบาท

ผมก็เลยลองคิดดูว่า  น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ ก็นึกไปถึงสายโทรศัพท์ สายลำโพง ซึ่งสายโทรศัพท์นั้นมี 6 เส้น ซึ่งเหมาะสมกับการใช้ แต่มีข้อเสียอยู่ว่าสายขาดในได้ง่าย ส่วนสายลำโพงก็มีแค่ 2 สีหากว่าต้องไปหาซื้อแบบหลายๆสีเพื่อให้ครบ 5 สีที่แตกต่างกัน แล้วนำเอามาใช้ก็ได้ครับ แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องของความสามารถในการนำไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไปเพราะว่าเป็นสายที่มาจากคนละโรงงานกัน  ซึ่งค่าความต้านทานจะไม่เท่ากัน จึงย่อมส่งผลให้ค่าที่ได้วัดสายแต่ละเส้นแตกต่างกันไปด้วยนั้นเอง และการเดินสายก็จะยุ่งยากว่าเพราะว่า ต้องใช้ 3 คู่มัดรวมกัน การตีกิ๊ฟ การเก็บสายอาจจะทำได้ลำบาก ยุ่งยาก แล้วอย่างนั้นจะทำอย่างไรต่อไปหละ

สุดท้ายคิดไปคิดมา ได้นึกถึงสาย LAN ครับ ซึ่งมีองค์ประกอบครบทุกอย่าง คือสาย LAN เป็นสายที่สามารถหักงอได้มาก มียืดหยุ่นสูง ไม่ขาดใน และก็มีสีมากว่า ผมก็เลยตัดสินใจไปใช้สาย LAN เลยครับ ไปหาซื้อที่คอมพิวเตอร์ โดยร้านค้าให้สายมาเป็นสาย LAN ยี่ห้อ Sys Link ครับ

ซึ่งก่อนการติดตั้งใช้งานจริง ผมได้ทำการทดสอบหาค่าความคลาดต่างๆจากสาย LAN ให้ได้เสียก่อน ซึ่งผมได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้ครับ 

1.-สำหรับความชื้นที่วัดได้จากสาย LAN จะมีค่าความเคลื่อนต่ำมาก โดยใช้สายยาวประมาณ 25 เมตร ค่าความชื้นจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 Rh% เท่านั้น

2.-สำหรับอุณหภูมิที่วัดได้จากสาย LAN นั้น แกว่งตัวมากเอาเรื่องเลย แต่ด้วยจำเป็นที่ต้องเร่งติดตั้ง ไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งหาสายอื่นๆทดแทนแล้ว ด้วยเป็นวัดหยุดและเป็นวันสุดท้ายอีก  จึงทำให้ผมตัดสินใจใช้สาย LAN ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ว่าผมได้ลดทอนความยาวสายที่จะเดินให้สั้นลงเหลือเพียงเท่าที่จำเป็นจริง คือ 11.20 เมตรและทำการ Clibrate ค่าให้ถูกต้อง แล้วจึงทำการสอบเทียบอุณหภูมิที่วัดได้จาก VM-80 HT ที่ต่อขยายความยาว เปรียบเทียบกับตัวอื่นๆที่ไม่ต่อขยายความยาวสาย Sensor ค่าที่ได้เป็นที่น่าพอใจมาก ถึงแม้ว่าสายที่ต่อขยายจะสั้นไปบ้าง แต่ก็ไม่แสดงถึงค่าผิดพลาดหรือเป็นข้อด้อยแต่ย่างไร (โดยส่วนตัวผมเน้นเรื่องความถูกต้องแม่นยำที่ได้จาก Hygrosatat มากกว่าสาย Sensor ที่ยาว สายยิ่งยาวโอกาสเพี้ยนยิ่งสูงครับ เอาเท่าที่จำเป็นต้องใช้ก็เพียงพอแล้ว)

ข้อดีของการใช้สาย LAN ในการต่อขยายความยาวก็คือเราจะมีสายไฟที่ไม่ได้ใช้เก็บไว้เป็นสายสำรองอีกด้วย เพราะว่าโดยปกติแล้วสาย LAN จะประกอบไปด้วย สายภายใน 8 เส้น แต่สาย Sensor จะใช้เพียง 5 เส้น ดังนั้นจึงยังมีสายไฟที่จะนำมาใช้เป็นสายสำรองได้อีก 3 เส้น ซึ่งครอบคลุมทั้งสายความชื้น 3 เส้น หรือ สายอุณหภูมิซึ่งใช้แค่ 2 เส้น ซึ่งทำให้หมดกังวลเรื่องการเดินสายใหม่ หากว่าสายเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็นำสายสำรองทั้ง 3 เส้นมาต่อเชื่อมใหม่ ไม่จำเป็นต้องเดินสายใหม่ทั้งหมด ซึ่งสายสำรองนี้มีครอบคุม-เพียงพอ  (อย่างมากสุด 3 เส้น , อย่างน้อย 2 เส้น แต่มีสำรองไว้ถึง 3 เส้นครบ)

ซึ่งโดยภาพรวมๆ ผมว่าสาย LAN ก็พอใช้ได้นะครับ และเมื่อติดตั้ง VM-80 HT เสร็จแล้ว ก็เริ่มการใช้งานจริง ซึ่ง VM-80 HT สามารถควบคุมความชื้น-อุณหภุมิได้ถูกต้องตามที่ตั้งความหวังไว้ทุกประการ
คือสามารถควบคุมความชื้นและอุณหภุมิได้ในเวลาเดียวกันเลย ไม่ว่าจะเป็นความชื้นลดต่ำลง VM-80 HT จะเปิด Blade เพิ่มความชื้นให้จนถึงระดับที่ต้องการ หรือหากว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น VM-80 HT ก็จะสั่งเปิด Blade Humidifier ชุดเดียวกันนี้แหละ เพื่อลดอุณหภูมิลงมา ทำให้สามารถใช้งาน Blade Humidiifer ได้แบบ 2 in 1 เลย การเดินสายไฟก็ทำได้สะดวก ง่ายกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้
 
วันหลังผมจะมาแนะนำ การ Set Parameter ต่างๆ เพื่อให้ VM-80 HT สามารถควบคุม Blade Humidifier ในการเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิ โดยใช้ Blade Humidifier เพียงแค่ชุดเดียวเท่านั้น พร้อมทั้งเทคนิคที่ช่วยให้ไม่ต้องเดินสายไฟยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนแต่สามารถทำให้ Blade สามารถควบคุมได้ทั้งอุณหภูมิและความชื้นได้ในเวลาเดียวกันเลย สะดวกมากครับ
 
ตอนนี้ผมขอสะสางงานที่คั่งค้างมากมายให้ลดลงเสียก่อน และเริ่มมีเวลาว่าง ผมจะทำ Clip สาธิตการใช้งาน ต่างๆอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าตัวแปร สาธิตการรับ Load จาก Blade พร้อมกันทีเดียว 3 ตัว การสาธิตการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในเวลาเดียวกันให้ดูครับ
 
                                                                                  Vuthmail-Thailand
                                                                                           08.12.53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น